โรคข้อเสื่อม

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552
Posted by noobo

โรคข้อเข่าเสื่อม

ปัจจุบันนี้ความรู้ทางด้านการแพทย์ให้มนุษย์มีอายุยืนยาวมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถจะหยุดยั้งความชราภาพหรือความเสื่อมของร่างกายได้ ความถดถอยในสมรรถภาพของอวัยวะต่างๆ เกิดขึ้นได้ทุกอวัยวะในร่างกาย บางอวัยวะเสื่อมช้า บางอวัยวะเสื่อมเร็ว แล้วแต่การใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล แล้วแต่โรคที่อาจสืบเนื่องมาทางพันธุกรรม หรือโรคที่เข้ามาเบียดเบียนร่างกายและอวัยวะหลังกำเนิด โรคข้อเสื่อมเป็นความเสื่อมอีกประการหนึ่งที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้คุณภาพชีวิต และประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตถดถอยลงไปด้วย

สาเหตุของอาการเสื่อมสภาพของข้ออาจมีต้นกำเนิดได้หลายสาเหตุ เช่น ลักษณะถ่ายทอดกันมาทางพันธุกรรม เช่น บิดามารดาเป็นโรคข้อเสื่อม ลูกหลานก็มีโอกาสเป็นโรคข้อเสื่อมได้ มากกว่าคนอื่นๆ โรคข้อเสื่อมอาจมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระแทก การใช้งานของข้อนั้นๆ หนักเกินความสามารถของข้อจะทนได้ ผู้ป่วยบางรายน้ำหนักตัวมากเกินไป ข้อที่เกี่ยวข้องกับการรับน้ำหนักก็จะต้องทำงานหนักมาก ซึ่งถ้าดำเนินต่อเนื่องไปนานๆ จะทำให้การฉีกขาดของเนื้อเยื่อในข้อ เกิดมีการกระแทกกระทั้นของกระดูกอ่อนภายในข้อ อาจรุนแรงพอที่จะทำให้เกิดการแตกหักของผิวกระดูกอ่อน และผิวกระดูก จนไม่อาจซ่อมแซมตัวเองได้ จึงนำมาของการเสื่อมในข้อต่างๆ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเสื่อมที่สำคัญมีอะไรบ้าง ?

ปัจจัยที่ทำให้ข้อเสื่อมีหลายประการ ที่สำคัญคือ

  • ความชรา โรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ กระดูกอ่อนในผู้สูงอายุจะแตกต่างจากคนอายุน้อย ทำให้มีโอกาสเกิดโรคข้อเสื่อมได้ง่ายขึ้นถึงแม้จะไม่ใช่เป็นสาเหตุสำคัญ และโรคข้อเสื่อมก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอายุที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว

  • น้ำหนักตัว โรคนี้พบบ่อยในคนอ้วน ยิ่งน้ำหนักตัวมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นโรคข้อเสื่อม โดยเฉพาะข้อใหญ่ๆ ที่รับน้ำหนักตัว เช่น ข้อเข่า ข้อตะโพก ในการรักษาหรือป้องกันโรคข้อเสื่อม การลดน้ำหนักเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่ทำให้การรักษา หรือป้องกันกได้ผล

  • การใช้งานข้อที่ไม่ถูกต้อง เวลาเราเดินขึ้นลงบันได น้ำหนักที่กดลงไปบนข้อเข่าในขณะก้าวขึ้นลงบันได จะประมาณเท่ากับ 3 เท่าของน้ำหนักตัว ดังนั้นยิ่งน้ำหนักตัวมากและต้องเดินขึ้นลงบันไดมากๆ ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากขึ้น นอกจากนั้นการนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ คุกเข่า เหล่านี้ก็ทำให้ข้อมีโอกาส เกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากขึ้น การใช้มือทำงานบ้านมาก ทำให้ข้อปลายนิ้วหรือข้ออื่นๆ ในมือมีโอกาสเกิดข้อเสื่อมได้

  • การเปลี่ยนแปลงในกระดูกอ่อน ที่เกิดในโรคบางอย่าง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การติดเชื้อในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบในข้อ และทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อทำให้ข้อเสื่อมได้
ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมจะมีอาการอย่างไร ?

อาการของโรคข้อเสื่อม มักค่อยๆ เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มแรกมักจะมีอาการปวดเวลาเคลื่อนไหวข้อมากๆ เช่น เดินขึ้นลงบันไดมากๆ ต่อมาใช้งานข้อน้อยๆ ก็ปวด ต่อมาอาการอาจเป็นมากขึ้น จนเวลาพักข้อไม่ได้ทำงานอะไรก็ปวดได้ เป็นมากเข้าอาจมีอาการปวดมากขณะหลับด้วย จนบางรายต้องตื่นกลางดึกเพราะปวด บางครั้งการมีเสียงดังที่ข้อ กรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหวข้อ เช่น เวลาเดิน ก็เป็นอาการเริ่มแรกของข้อเสื่อม บางครั้งอาจมีอาการข้อขัดตึงหลังตื่นนอน หรือหลังจากพักอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ใช้ข้อนานๆ แต่จะเป็นอยู่ไม่กี่นาที

ข้อใดบ้างในร่างกายที่มีโอกาสเสื่อมได้ ?

ข้อที่มีโอกาสเกิดการเสื่อมได้บ่อย ได้แก่ ข้อที่รับน้ำหนักของร่างกายมากๆ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง จะมีโอกาสเกิดความเสื่อมได้เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีน้ำหนักตัวมากๆ หรือต้องใช้งานข้อมากๆ แต่ข้ออื่นๆ เช่น ข้อบริเวณปลายนิ้วมือ ก็อาจจะเสื่อมได้ ซึ่งพบเป็นโรคทางกรรมพันธุ์อย่างหนึ่ง บริเวณข้อที่เป็นอาจพบก้อนนูนๆ ขึ้นมาเป็นตุ่มด้านหลังข้อทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของข้อเสื่อมที่ปลายนิ้วนี้ ข้อโคนนิ้วหัวแม่มือก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่พบความเสื่อมได้บ่อย

ทำไมข้อถึงเสื่อมได้ ?

ปกติในข้อต่อส่วนมากทั่วร่างกายจะมีส่วนที่เป็นกระดูกอ่อน คลุมผิวข้อไว้ กระดูก อ่อนนี้จะทำหน้าที่รองรับน้ำหนักที่กดลงมาที่ข้อ ทำหน้าที่คล้ายกันชนรถยนต์หรือยางรองขาโต๊ะ ขาเก้าอี้ นอกจากนี้ยังทำให้ผิวข้อมีความราบเรียบลื่นไหลได้เรียบ ในขณะที่มีการขยับใช้งานข้อ กระดูกอ่อนนี้ปกติจะมีสีขาวใส และเรียบ เมื่อเริ่มมีการเสื่อม กระดูกอ่อนนี้โดยเฉพาะ บริเวณที่เป็นจุดที่รับน้ำหนักมาก จะเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง หรือสีน้ำตาลขุ่น ผิวจะเริ่มไม่เรียบและนิ่มขึ้น บางบริเวณจะแตกเป็นร่อง เป็นริ้ว หรือเป็นแผลขึ้น ถ้าเสื่อมมากขึ้นกระดูกอ่อนอาจหลุดล่อนออกมา จนเห็นตัวเนื้อกระดูกที่อยู่ใต้ลงไป ในขณะเดียวกันส่วนอื่นๆ ของข้อ เช่น กระดูกที่อยู่ใต้กระดูกอ่อนหรือเยื้อหุ้มข้อ อาจมีการเลี่ยนแปลงหนาตัวขึ้น อาจพบกระดูกงอกออกจากขอบของข้อได้

เมื่อมีภาวะข้อเสื่อมแล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง ?

เมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรคข้อเสื่อม สิ่งที่ควรทำคือ

1. พักการใช้งานข้อ เช่น ถ้าเป็นข้อเข่าเสื่อม ก็ไม่ควรเดินมากหรือเดินขึ้นลงบันไดมาก เดินเท่าที่จำเป็น ไม่ควรนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือนั่งบนพื้น ควรนั่งบนเก้าอี้ ที่ข้อเข่าไม่พับงอเกิน 90 องศา
2. ลดน้ำหนักตัวและควบคุมน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วน ถ้าท่านมีน้ำหนักตัวมากหรืออ้วนอยู่แล้ว ควรลดน้ำหนักอย่างยิ่ง ถ้าสามารถลดน้ำหนักได้สัก 1-2 กิโลกรัม ท่านจะรู้สึกว่า อาการปวดข้อลดน้อยลงมาก แต่ถ้าน้ำหนักตัวท่านไม่มาก หรือไม่อ้วนอยู่แล้ว ก็ต้องพยายามควบคุมน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วนเช่นกัน
3. บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงขึ้น เพื่อให้ช่วยรับน้ำหนักที่จะกระทำไปที่ข้อโดยตรงเช่น ที่บริเวณข้อเข่า การบริหารกล้ามเนื้อหน้าขาเหนือเข่า ทำให้แข็งแรงขึ้นจะช่วยลดอาการปวดเวลาเดินลงได้ การบริหารไม่ควรออกแรงมาก และต้องไม่ทำให้รู้สึกปวด ควรเป็นการบริหารร่างกายชนิดเกร็งกล้ามเนื้อ ซึ่งไม่ต้องเคลื่อนไหวข้อมากแต่จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น
4. อย่าฝืนใช้ท่าทางหรือการบริหารออกกำลังกายที่อาจทำให้ปวด หรือข้อผิดรูปร่างไป
5. ไม่ควรยกของหนัก
6. ไม่ควรทำหรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ เช่น ยืนมาก เดินมาก จะทำให้ปวดข้อเพิ่มขึ้น
7. ถ้ามีอาการปวดเพิ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาณเตือนว่า ควรจะรีบไปพบแพทย์

โรคข้อเสื่อมรักษาหายขาดได้หรือไม่ ?

ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคข้อเองให้หายขาดได้ เนื่องจากเมื่อเกิดความเสื่อมของข้อขึ้นแล้ว มีการสลายหรือเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งเป็นการยากที่จะทำให้กลับสู่สภาพเดิม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดมากจึงมาพบแพทย์ ความเปลี่ยนแปลงที่กระดูกอ่อนผิวข้อมักจะเสื่อมไปมากแล้ว

การรักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีจุดหมายคือ มุ่งลดอาการปวด หรือ อาการอักเสบถ้ามี ในขณะเดียวกันก็พยายามทำให้การเคลื่อนไหว ของข้อเป็นไปตามปกติ โดยป้องกันหรือแก้ไขการผิดรูปร่างของข้อ ทำให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันหรือทำการงานได้ตามปกติ

เนื่องจากผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมแต่ละรายมีอาการ และความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรเลือก หรือปรับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายตามปัญหาที่ผู้ป่วยนั้นมี เช่น มีข้อขัดตึง มีข้อเคลื่อนไหวไม่ได้เต็มที่ หรือมีความพิการผิดรูปร่างของข้อเป็นต้น

ข้อมูลจาก http://www.elib-online.com/

0 ความคิดเห็น: